ทะเลแดงฟ้าเปิด

Red Sea Reopens, But the Shipping Storm Isn’t Over

09 พ.ค. 68 l ศูนย์วิจัย AMCOL


 

“ทะเลแดงเปิด แต่ตลาดขนส่งอาจดิ่งไม่รู้ตัว”

การประกาศหยุดยิงระหว่าง สหรัฐฯ กับกลุ่มฮูตีในเยเมน ส่งสัญญาณ “ฟ้าเปิด” สำหรับเส้นทางเดินเรือผ่านทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของการค้าระหว่างเอเชีย-ยุโรป แต่ “ความโล่ง” ครั้งนี้อาจกลายเป็น พายุราคาค่าระวาง ที่ถาโถมเข้า

     บทความจาก Hellenic Shipping News ระบุว่า การกลับมาของเรือคอนเทนเนอร์สู่ทะเลแดงหลังจากการประกาศหยุดยิงระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มฮูตีในเยเมน อาจส่งผลให้ราคาค่าระวางเรือทั่วโลกลดลงอย่างรุนแรง ข้อมูลจาก Xeneta แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลการขนส่งทางทะเลและทางอากาศ ชี้ว่าความต้องการขนส่งวัดเป็น TEU-mile ทั่วโลกอาจลดลง 6% หากเรือคอนเทนเนอร์กลับมาใช้เส้นทางผ่านทะเลแดงอีกครั้ง

 

Xeneta เตือน: ความโล่งอาจกลายเป็นโลว์

     ข้อมูลจาก Xeneta ระบุว่า หากเรือคอนเทนเนอร์กลับมาใช้ทะเลแดงอีกครั้ง ความต้องการขนส่งวัดเป็น TEU-mile อาจลดลงทันที ถึง 6% ซึ่งเท่ากับว่า “ซัพพลาย” จะพุ่ง แต่ “ดีมานด์” ไม่ได้เพิ่ม ส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะ อุปทานล้นระบบ (Overcapacity)

     Peter Sand หัวหน้านักวิเคราะห์ของ Xeneta เตือนว่า "การกลับมาใช้เส้นทางนี้จะทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด เนื่องจากมีการสั่งซื้อเรือใหม่จำนวนมากในช่วงที่ค่าระวางสูงขึ้นจากวิกฤตทะเลแดง การกลับมาใช้เส้นทางนี้อาจทำให้ราคาค่าระวางลดลงอย่างมากและรวดเร็ว"

 

⚠️ Maersk–Hapag ยังรอเช็คเรดาร์

       อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนส่งหลายรายยังคงระมัดระวังในการกลับมาใช้เส้นทางทะเลแดง แม้จะมีการประกาศหยุดยิงก็ตาม บริษัทใหญ่เช่น Maersk และ Hapag-Lloyd ยังคงต้องการความมั่นใจในด้านความปลอดภัยและเสถียรภาพก่อนที่จะตัดสินใจกลับมาใช้เส้นทางนี้ ในระหว่างที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน ผู้ประกอบการขนส่งยังคงเลือกใช้เส้นทางที่ยาวกว่า เช่น การอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเพิ่มระยะทางและต้นทุน แต่ให้ความมั่นใจในด้านความปลอดภัยมากกว่า

 

สรุปเชิงกลยุทธ์: โอกาสหรือกับดัก?

 

การ “ลดต้นทุน” อาจกลายเป็น “ลดรายได้” เพราะตลาดจะเผชิญกับ ภาวะราคาถล่ม 

     โดยสรุป แม้การหยุดยิงระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มฮูตีจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่การกลับมาใช้เส้นทางทะเลแดงยังคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อราคาค่าระวางและเสถียรภาพของตลาดการขนส่งทั่วโลก

  

ไทยควรเตรียมรับมือใน 3 ทาง:

     1.ติดตามต้นทุนโลจิสติกส์นำเข้า-ส่งออกแบบรายเส้นทาง

     2.เจรจาต่อรองค่าระวางกับผู้ให้บริการโดยใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ

     3.กระจายความเสี่ยงไปยังพอร์ตอื่น เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และ ASEAN